ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ จากความหลงใหลสู่การส่งต่อศาสตร์ธุรกิจแบบญี่ปุ่น

จากความหลงใหลในสินค้าญี่ปุ่นตั้งแต่วัยเด็กของ ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ หรือ อาจารย์เกด ที่มักจะได้ของฝากเป็นขนมเวลาคุณพ่อคุณแม่เดินทางไปทำธุรกิจที่ประเทศญี่ปุ่น และความหลงใหลนั้นเพิ่มมากขึ้น เมื่อได้เข้าศึกษาปริญญาโทด้านการตลาดที่เมืองโกเบ มีโอกาสได้เห็นและใช้สินค้าจากญี่ปุ่นมากขึ้น

อาจารย์เกด
มองว่าคนญี่ปุ่นสามารถสร้างความต้องการใหม่ๆ ให้คนรู้สึกอยากซื้อของหรืออยากได้ของตลอดเวลา ทำสินค้าที่คนคาดไม่ถึง ยกตัวอย่าง ลิปมันยี่ห้อหนึ่งที่ผลิตออกมาโดยมีคอนเซปต์ว่า เมื่อทาแล้วปากจะเป็นสีธรรมชาติ เวลาทาริมฝีปาก จะรู้สึกอุ่นเล็กน้อย ซึ่งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ปากสีแดงธรรมชาติ หรือเครื่องดื่มที่เหมือนน้ำเปล่าแต่ผสมกลิ่นเข้าไป ไม่มีแคลอรี่ ไม่มีรสหวาน แต่เมื่อดื่มเข้าไปแล้วจะได้กลิ่นหอมและรู้สึกสดชื่น

แบรนด์ล่าสุดที่ อาจารย์เกด ชอบมากคือ Yu Nakagawa เป็นแบรนด์ที่นำของใช้โบราณของญี่ปุ่นมาทำให้ทันสมัยขึ้น เช่น คนสมัยก่อนใช้ถ่านดับกลิ่น ทางร้านได้ทำเป็นถุงถ่านน่ารักๆ เพื่อให้ตั้งไว้ตรงประตูบ้านได้

“เรารู้สึกว่าคนญี่ปุ่นเข้าใจคิด และมีวิธีสร้างมูลค่าใหม่ๆ ให้กับสินค้าเสมอ”

จากความหลงใหลสู่การสอน
ปัจจุบัน อาจารย์เกด เป็นอาจารย์สอนคณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้สอน Makoto Marketing การตลาดแบบจริงใจ และ ริเน็น เคล็ดลับการบริหารธุรกิจให้ยั่งยืน กับ SHiFT Your Future

ในช่วงแรกของการสอนหลักการทำธุรกิจ อาจารย์เกด จะใช้ตำราตะวันตกเป็นหลักและแทรกตำราจากญี่ปุ่นบ้าง แต่ช่วงหลังจะเลือกแต่ตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่น เลือกธุรกิจที่คิดออกมาได้ดี คิดถึงลูกค้าจริงๆ และยอมรับกำไรน้อยลงเล็กน้อยเพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์

หนึ่งในลูกศิษย์ที่เคยเรียนกับ อาจารย์เกด ชื่อคุณหมอตุ๊กตา ทำธุรกิจคลินิกหมอฟัน ที่ จ.พิษณุโลก ชื่อคลินิกฟันน้ำนม เป็นคลินิกหมอฟันที่จะดูแลเฉพาะเด็กเท่านั้น

สิ่งที่คุณหมอทำ คือ แต่งห้องให้น่ารัก หาของเล่นมาให้เด็กๆ ทำให้รู้สึกตื่นเต้นที่จะมาทำฟัน เพราะเวลาที่เด็กถอนฟัน อุดฟัน หรือขูดหินปูน เด็กจะกลัว แต่สุดท้ายจะจบลงด้วยเรื่องที่ดี เพราะมีพื้นที่ให้เด็กได้เล่น ทำให้เด็กอยากกลับมาพบหมอฟันอีก

เพื่อนๆ ในวงการบางคนอาจมองว่า คลินิกจะต้องคิดว่าใน 1 ชั่วโมง จะรักษาคนไข้ได้กี่คน และต้องพยายามทำรอบให้เร็วที่สุด รักษาคนไข้ให้ได้มากที่สุด

แต่คุณหมอตุ๊กตากลับมองว่า ถ้าคิดแบบนี้จะไม่มีความสุข และถามตัวเองว่า “ที่ทำอยู่นี้มันผิดหรือ” แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนกับ อาจารย์เกด ก็พบว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นมันถูกต้อง เพราะเป็นการทำเพื่อลูกค้า และตัวเองมีความสุข นอกจากนี้ยังไม่ต้องสเกลธุรกิจใหญ่มาก ก็พอให้มีกำไรที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้และอยู่ได้ดี

“ส่วนตัวไม่ได้มองว่าคนที่เรียนกับเรา และนำวิชาไปใช้จะประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเข้ามาเรียนวิชาอย่าง ริเน็น ก็จะช่วยให้เขามั่นใจว่าเขาทำธุรกิจมาถูกทาง มั่นใจว่าเขาทำเพื่อลูกค้าได้ดีอยู่แล้ว และสามารถทำได้ดีกว่านี้”

นอกจากนี้ คนที่มีจุดประสงค์ที่ดีในการทำธุรกิจ แต่เมื่อยอดขายเข้ามามาก กลับลืมจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ การเรียนจะช่วยให้เจ้าของจดจำจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจได้ ว่าเคยเริ่มต้นด้วยหัวใจที่ดีอย่างไร
นักเขียน อีกหนึ่งบทบาทของ อาจารย์เกด
นอกจากบทบาทของการเป็นอาจารย์แล้ว อาจารย์เกด ยังเป็น เจ้าของเพจ เกตุวดี Marumura ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 100,000 คน และยังเป็นนักเขียนหนังสือ Makoto Marketing ที่ขึ้นแท่นเป็นหนังสือขายดี (Best Seller) อีกด้วย

อาจารย์เกด มักจะติดตามข่าวจากเว็บไซต์ญี่ปุ่น ดูทีวีญี่ปุ่น รวมถึงสมัครสมาชิกวารสารญี่ปุ่น เพื่อศึกษาเรื่องราวของธุรกิจญี่ปุ่น บริษัทไหนที่รู้สึกว่าน่าสนใจก็จะเก็บข้อมูลเอาไว้ ส่วนบริษัทไหนที่เห็นแล้วรู้สึกว้าว จนอยากนำมาเขียนเป็นบทความก็จะค้นคว้าเพิ่มเติม หาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้สิ่งที่อยากรู้ทุกแง่มุม ก่อนจะนำข้อมูลทั้งหมดมาเขียน ซึ่งในขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง

ข้อมูลที่ค้นคว้ามาได้ จะถูกแยกเป็น 2 ส่วน คือ ไฟล์ที่เป็นบทความ กับข้อมูลของบริษัทนั้นๆ รวมกันประมาณ 40-70 หน้า

“บริษัทไหนที่อ่านแล้วรู้สึกอิน รู้สึกรักมากๆ ก็จะมีข้อมูลเยอะมาก”

อาจารย์เกด ยังกล่าวต่อว่า การที่เราหาข้อมูลมากๆ จนรู้สึกว้าว จะทำให้เราเรียบเรียงออกมาได้ง่ายและเป็นธรรมชาติ อีกส่วนหนึ่ง คือ การมีโครงสร้างการเล่าเรื่อง เช่น การโปรยเรื่องให้คนอยากรู้ ส่วนของเนื้อหาเล่าเรื่องที่คนสนใจ ตอนจบปิดด้วยผลลัพธ์ว่าบริษัทนี้ทำยอดขายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร เพื่อให้คนอ่านรู้สึกอิ่มเอมกับเนื้อเรื่อง

ซึ่งความท้าทายกับงานเขียนอีกอย่าง คือ จะเลือกจุดเด่นมาเล่าอย่างไร สมมุติว่าบริษัทมีข้อดี 10 อย่าง ถ้าเลือกมาเขียนทั้งหมดก็จะไม่มีจุดไหนเด่น จะต้องเลือกข้อใดข้อหนึ่งมานำเสนอ ซึ่งเป็นความสนุกของการเป็นนักเขียน

เป้าหมาย อยากเห็นองค์กรไทยตั้งใจทำเพื่อลูกค้า
จากการที่ได้เดินทางไปเรียนที่ญี่ปุ่น และยังได้เดินทางไปอีกหลายครั้ง รวมถึงการติดตามค้นคว้าการทำธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่น อาจารย์เกด พบว่าคนญี่ปุ่นไม่เพียงแค่ทำธุรกิจเพื่อให้ได้กำไร แต่ยังทำประโยชน์ให้กับสังคมอีกด้วย ตัวอย่าง เช่น สถานีรถไฟก็ตั้งใจออกแบบป้ายสถานีให้อ่านง่าย คนเดินไม่หลง ร้านขายของในสถานีก็ตั้งใจนำของฝากดีๆ มาให้คนซื้อ พนักงานขายอาหารในชินคันเซ็นตั้งใจขายและแนะนำเป็นอย่างดี คนทำอาหารเบนโตะตั้งใจคิดให้คนนั่งรถไฟเปิดทานอาหารได้ง่าย

“เราจะเห็นความร่วมมือหลายๆ ฝ่ายเข้ามา ตั้งแต่คนทำอาหาร คนออกแบบสถานี คนขายของ ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองในแบบที่ดีที่สุด ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำเพื่อคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี”

อาจารย์เกด กล่าวในตอนท้ายว่า อยากให้วิธีคิดแบบนี้ไปทั่วทุกบริษัท อยากให้บริษัทเปลี่ยนจากการชูเรื่องการทำยอดขาย 100 ล้าน 1,000 ล้าน เป็น บริษัทนี้ดูแลลูกค้าได้อย่างดีมาก  เพราะธุรกิจไม่ใช่การมาทำกำไร ทำแล้วรวย แต่จะต้องเป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตคนได้จริงๆ

บทสัมภาษณ์อื่นๆ ที่น่าสนใจ

-“ครูออน” ญาณิมา ศรีมังคละ เทรนเนอร์ผู้ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง
-ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย ผู้พัฒนา Botnoi กับพันธกิจสร้างเครือข่ายนักพัฒนา AI
Created with