เปิดมุมมอง “รัฐโรจน์ พณิชย์จุติ” กับอนาคตงานศิลปะ NFT และเป้าหมายสู่ระดับโลกของ NextArt

การเติบโตของ Non-Fungible Token (NFT) ในระดับโลกเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น จากข้อมูลการซื้อขาย NFT ในครึ่งปีแรกของปี 2020 มียอดรวมอยู่ที่ 13.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในครึ่งปีแรกของปี 2021 ยอดการซื้อขายพุ่งไปถึง 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเติบโตเกือบ 200 เท่า ขณะที่ในประเทศไทยเพิ่งเริ่มตื่นตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ในบทความนี้จะพามาพูดคุยกับ รัฐโรจน์ พณิชย์จุติ CEO & Co Founder แห่ง NextArt ถึงมุมมองต่างๆ ในโลก NFT รวมถึงการเติบโตและอนาคตของ NFT จะเป็นอย่างไร

 
กระแส NFT สร้างศิลปิน-นักสะสม

ในโลกของงานศิลปะคนที่เป็นศิลปินจริงๆ ต้องทุ่มเทกับการทำงานด้านนี้ เหมือนกับ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หรือ อ.ถวัลย์ ดัชนี ถึงจะกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงได้ แต่เมื่อมี NFT เข้ามา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ได้เห็นคนที่มีความสามารถทางด้านศิลปะ ออกมาแสดงตัวว่า “วาดรูปเก่ง” จากในสมัยก่อนคนกลุ่มนี้จะหลบๆ อยู่

รัฐโรจน์ กล่าวว่า ศิลปะมันไปตามสมัย NFT ทำให้คนมีพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองมากขึ้น มีกลุ่มที่ทำงานศิลปะบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แปลงเป็นไฟล์ดิจิทัล ปัจจุบันมีคนไทยที่สนใจในตลาดนี้ประมาณแสนคน และมีหลายร้อยคนที่งานศิลปะ NFT ขายได้แล้ว ในขณะที่ก่อนหน้านี้ศิลปินที่เขียนรูปแล้วขายได้นั้น มีน้อยมากจนแทบจะนับชื่อได้เลย

“ข้อดีของการที่ศิลปะอยู่ในดิจิทัลคือ มันไปได้ทั่วโลก คนที่เป็นนักสะสมต่างประเทศถ้าเขาชอบงานเราเขาก็เข้ามาซื้อได้ ทำให้การขายงานนั้นมันไร้พรมแดน เพราะงานเราอาจจะถูกใจคนจากในทวีปอื่นก็เป็นไปได้”

ซึ่งที่ NFT มันเริ่มเติบโตจากกลุ่มคนที่ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี ฉะนั้น First adopter คือคนที่เคยลงทุนในคริปโทฯ หรือสนใจบล็อกเชน และเล็งเห็นว่า NFT สามารถทำให้สินค้าเป็น Original ได้ในโลกดิจิทัลเมื่อใช้บล็อกเชน และทำให้คนที่สนใจศิลปะในโลกดิจิทัลมีช่องทางในการสะสมได้

กลุ่มที่ 2 คือ คนที่มีความสามารถทางด้านการใช้โปรแกรมวาดภาพ และมีความสามารถในการวาดภาพ ที่เข้ามาศึกษาเรื่องคริปโทฯ และบล็อกเชน รวมถึงศิลปินที่ยังวาดรูปบนกระดาษ ก็เริ่มเข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีและเข้ามาสู่ตลาดนี้

 
NFT เป็นมากกว่างานศิลปะ

รัฐโรจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนกำลังพูดถึงในสิ่งที่เข้าใจง่ายๆ คือรูปวาดหรือภาพถ่าย แต่ในอนาคตอาจจะมี Quote ของคนดังๆ ความคิดหรือไอเดียของคนมีชื่อเสียง ยกตัวอย่าง CEO Twitter ที่นำโพสต์แรกขึ้นมาขาย หรือแม้กระทั่งงานเขียนนวนิยายก็จะสามารถขึ้นมาอยู่บนนี้ได้หมด อะไรที่มันมีประวัติศาสตร์ หรือความสำคัญของศิลปะ ทางวิทยาศาสตร์ และมีฐานแฟนที่ให้ความสำคัญ ก็จะสามารถมาอยู่บนโลก NFT ได้ และมีมูลค่า

“สมมุติว่า อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เกิดในยุคนี้ แล้วเขาคิดสมการขึ้นมา และสมการนี้ถูกนำไปใส่ไว้ใน NFT ผมเชื่อว่ามันจะกลายเป็นของสะสมทันทีหลังจากที่ ไอน์สไตน์ เสียชีวิตไป”

รัฐโรจน์ กล่าวต่อว่า ถ้าถามว่าดารานักร้อง จะมีโอกาสสร้างรายได้จาก NFT ไหม ส่วนตัวมองว่ามันเป็นแค่ข้อได้เปรียบ อาจจะมีคนที่มีแนวโน้มจะดังเหมือน ลิซ่า BLACKPINK แต่ปัจจุบันยังไม่ดัง ถ้าเขาอัพโหลดคลิปหรือภาพถ่ายก่อนที่จะดังเอาไว้ใน NFT เมื่อดังแล้วเอาออกมาปล่อยมันก็จะเพิ่มมูลค่าได้

ซึ่งระบบบล็อกเชนมันสามารถประทับเวลา (Time Stamp) ได้ว่าไฟล์นี้ถูกอัพโหลดขึ้นมาเมื่อไร และไม่มีใครสามารถเข้าไปแก้ไขมันได้

ยกตัวอย่าง NFT ที่เป็นรูปหิน ซึ่งขายได้แพงมาก ถามว่ารูปสวยไหมมันไม่ได้สวย แต่มันถูกอัพโหลดขึ้นมาในระบบตั้งแต่ยุคแรกๆ คือปี 2017 เป็นผลงานเซตแรกของโลก และคนไปไล่ซื้อกันจนแต่ละรูปนั้นมีมูลค่าเป็นล้านบาท ซึ่งในสมัยปี 2017 ไม่มีใครซื้อเลย

“ซึ่งก็จะเห็นว่าคนดังก็มีมุมที่ได้เปรียบ แต่มันก็เป็นช่องทางให้กับคนธรรมดาสร้างผลงานได้เหมือนกัน”

 
ตลาดที่มีทั้งนักสะสม และเก็งกำไร

ตลาด NFT มีคนอยู่ 2 กลุ่ม คือ คนที่ชอบงานศิลปะจริงๆ และอยากเป็นเจ้าของ กับ คนที่เข้ามาเก็บภาพเพื่อเก็งกำไรกับการขายต่อในอนาคต

รัฐโรจน์ กล่าวว่า NFT แตกต่างจากตลาดคริปโทเคอร์เรนซีที่คนเข้ามาเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างเดียว ขณะที่งานศิลปะจะมีคนกลุ่มนึงที่เข้ามาสะสม เปลี่ยนจากเก็บงานศิลปะที่จับต้องได้ มาเป็นสินทรัพย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนอีกกลุ่มมาไล่เก็บผลงาน เพราะมองเห็นว่าผลงานของคนวาดมันมีคาแรคเตอร์ และเชื่อว่าจะมีคนอื่นที่ชอบเหมือนกัน ก็จะทำให้เขาสามารถนำไปขายต่อได้ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าคนสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนเท่าๆ กัน

ปัจจุบันจะมีงานศิลปะที่ทำออกมาเรียบๆ แต่มีจุดขาย กับงานที่ซับซ้อนหน่อย ซึ่งงานที่มีรายละเอียดสูงก็จะมีราคามากกว่างานที่ทำออกมาเรียบๆ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับว่าคนที่เข้ามาซื้อนั้นเขาชอบคอนเซ็ปต์หรือไม่ บางคนอาจจะสร้างงานที่มีรายละเอียดมากแต่ไม่มีสตอรี่อะไรเลย ก็อาจจะไม่มีคนสนใจ

“เวลาเราเห็นภาพของ อ.เฉลิมชัย กับ อ.ถวัลย์ เราจะเห็นว่าเขามีคาแรคเตอร์และสไตล์ที่ชัดเจน ถ้าคนสามารถสร้างตัวตนได้แบบนี้ ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จ เพราะผลงานในระบบนั้นมันมีเป็นล้านชิ้น แต่ผลงานที่มีมูลค่านั้น มันมีไม่มาก”

 
นำข้อด้อยของตลาด มาพัฒนาแพลตฟอร์ม NextArt

หลังจากอยู่ในวงการคริปโทเคอร์เรนซี มากว่า 5 ปี รัฐโรจน์ ก็ตั้งใจจะพัฒนาแพลตฟอร์ม NFT ที่สามารถแก้ Pain Point ของตลาด และเสริมในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำ

“ก่อนหน้านี้ผมทำงานที่ปรึกษาทางการเงิน ดูเรื่อง ICO (การระดมทุน แบบดิจิทัลด้วยการเสนอขาย ดิจิทัลโทเคน) ดูเรื่องการลงทุน ซึ่งตอนนั้นมีไอเดียที่จะทำเรื่องการจัดการลิขสิทธิ์ที่มันมีปัญหา พอ NFT เข้ามา เราก็เข้ามาศึกษามัน ว่าถ้าสามารถนำมาใช้เป็นแอปพลิเคชันที่ถูกทาง ก็จะสามารถช่วยจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ได้ และไม่ต้องไปทำเรื่องนี้ทีละประเทศ แต่มันทำทีเดียวแล้วไปทั่วโลกได้”

รัฐโรจน์ กล่าวต่อว่า เมื่อ Opensea เกิดขึ้นมา ก็ได้เข้าไปศึกษาและมองหาว่ามันมีปัญหาอะไรที่น่าจะเข้าไปแก้ได้

ปัญหาแรกคือเรื่องค่าแก๊ส (Gas) หรือค่าธรรมเนียม ที่จะต้องเสียครั้งละ 400-500 บาท และยังต้องเสียค่าแรกเข้า 5-6 พันบาท

ข้อที่ 2 คือ เรื่องสิทธิ์การถือครองงานศิลปะ จะทำอย่างไรให้มันชัดเจนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันคนที่เป็นคนวาดเป็นผู้สร้างสรรค์ และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนคนที่ไปซื้อผลงานมา จะได้แค่สิทธิ์ถือครอง แค่ได้สะสม แต่ไม่ได้สิทธิ์ทางการค้าเข้าไปด้วย

ส่วนข้อที่ 3 คือ ต้องใช้ไม่ยาก คนที่ไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีจะต้องใช้งานแพลตฟอร์มได้ ต้องเข้ามาแก้ว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เข้ามาใช้งานง่าย

“ปลายทางเรามองว่าเราจะเป็น Global Platform เป็นเหมือน Social Media สำหรับคนที่เป็นศิลปิน ให้สามารถมาโชว์ผลงานได้”

ปัจจุบัน NextArt มีเครือข่ายเป็น Founder Project คริปโทฯ ที่เป็นยูนิคอร์น ที่สามารถไปพาร์ทเนอร์ได้ แต่ด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มไทย ทำให้ รัฐโรจน์ ต้องการโฟกัสกับคอมมูนิตี้ของคนไทยมากกว่าประเทศอื่น ทั้งกลุ่ม NFT Thailand  กลุ่มมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่อง Digital Art และ กลุ่มที่เป็นคนวาดภาพประกอบในอิเล็กทรอนิกส์

“เราอยากให้คนกลุ่มนี้เข้ามาลองขายในแพลตฟอร์มเรา ทำให้เห็นว่าเราสามารถทำได้ถูกกว่า และถ้าแพลตฟอร์มเราตอบโจทย์จริงๆ สุดท้ายแล้วคนก็จะมาใช้”

ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม NextArt ผ่านช่วงของการทดสอบก่อนขึ้นโปรดักชั่นขั้นสุดท้ายไปแล้ว และกำลังมีแผนจะเปิดให้ใช้ในวงกว้างเร็วๆ นี้

“แผนของเราเริ่มต้นการจากขยายไปในระดับภูมิภาค และใน 5 ปี เราตั้งเป้าว่า NextArt จะอยู่ใน Top 3 ของแพลตฟอร์ม NFT”

 
สิ่งที่ต้องรู้ และ ต้องระวัง ก่อนเข้าโลก NFT

รัฐโรจน์ ได้ให้คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจจะเข้าสู่ตลาด NFT ว่า การเข้าสู่ตลาดนี้จะต้องมีความเข้าใจและตั้งใจ เริ่มต้นให้ไปทำความรู้จักกับการสมัคร และวิธีการใช้กระเป๋าตังค์ MetaMask (กระเป๋าตังค์ที่รองรับโทเค็นที่อยู่บน Ethereum ทุกชนิด) จากนั้นให้ไปศึกษาบล็อกเชน ซึ่งสามารถเรียนรู้จากคลิปสั้นๆ

ถ้าคุณสมัครและใช้กระเป๋าตังค์ MetaMask เป็น ส่วนที่เหลือมันจะเหมือนกับการที่คุณใช้โซเชียลมีเดียอัพโหลดรูป ใส่รายละเอียดของภาพที่จะขาย สิ่งที่แตกต่างกันคือ จะตั้งแบบประมูลหรือขายตามราคา

อีก 1 ข้อ คือคุณสามารถสร้างเงินส่วนแบ่ง (Royalty) จากภาพที่ขายได้ เช่น เราตั้งเงินส่วนแบ่งไว้ที่ 2% เมื่อคนที่ซื้อผลงานนำไปขายต่อ เราจะได้ 2% จากการขายต่อในครั้งที่ 2

ส่วนเรื่องที่ต้องระวัง คือ เรื่องกระเป๋าตังค์ ที่จะต้องดูแลด้วยตัวเอง “อย่านำเลขรหัส หรือ Seed Phrase ไปบอกใคร และอย่านำ Seed Phrase ไปไว้บนระบบอิเล็กทรอนิกส์” เพราะเมื่อคุณโดนแฮก คุณอาจจะถูกสวมสิทธิ์ และมันแก้ไขอะไรไม่ได้

“ถ้าคุณเข้าใจบล็อกเชนคุณก็จะระวังเรื่องนี้ ถ้าคุณเข้าใจการใช้กระเป๋าเงิน MetaMask มันก็จะทำให้คุณไม่พลาด ที่เหลือก็จะเป็นโอกาส ว่าคุณจะตั้งใจผลิตผลงานอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ เพราะการที่นำรูปขึ้นไปขายมันไม่ได้หมายความว่าจะขายได้ทันที มันต้องลองผิดลองถูก บางผลงานอาจจะเฟล แต่ถ้าทำไปสม่ำเสมอมันก็อาจจะมีบางผลงานที่ทำให้คุณค้นพบตัวเอง และสร้างรายได้ให้คุณได้” รัฐโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

 
ในสัปดาห์หน้าจะมาเจาะลึกขั้นตอนที่ควรรู้ ช่องทางที่น่าสนใจสำหรับคนที่สนใจเข้ามาในตลาด NFT กัน

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

-ส่องผลงาน ‘วิน–ณัฐวัตร์’ ศิลปินไทยที่ขายผลงาน NFT ได้สูงถึง 3 แสนบาท
-Metaverse และ NFT โอกาสสร้างตัวตนและความมั่งคั่งในโลกอนาคต?
Created with