เมื่อ “การลาออกครั้งใหญ่” เพราะคนต้องการ Work-Life Balance องค์กรต้องรับมืออย่างไร

การทำงานจากที่บ้านในช่วงระยะเวลาปีกว่าๆ ส่งผลให้หลายคนไม่สามารถแยกระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตการทำงานออกจากกันได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เราจะใช้เวลาเดินทางไปทำงาน-กลับบ้าน เป็นเส้นแบ่งระหว่างการทำงานและเลิกงาน แต่เมื่อปัจจุบันไม่มีการเดินทางเกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเกิดขึ้นจากที่บ้านตัวเอง ทำให้รู้สึกสูญเสีย Work-Life Balance ไป

สถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้หลายคนกลับมาคิดทบทวนมากขึ้น และพยายามปรับเปลี่ยนการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ซึ่งสิ่งที่คนต้องการมากที่สุดก็คือ “การมีเวลามากขึ้น”

แต่เมื่อหลายๆ องค์กรมีความคาดหวังว่าพนักงานจะต้องพร้อมทำงานอยู่เสมอ ทำให้คนรู้สึกกดดัน เครียด และเหนื่อยล้ามากขึ้น สุดท้ายก็เกิดการลาออกครั้งใหญ่ “Great Resignation”

ในบทความนี้ SHiFT Your Future จะชวนมาดูปัจจัยที่ส่งผลกับการลาออก และสิ่งที่องค์กรต้องปรับ เพื่อให้พนักงานรู้สึกอยากทำงานด้วยในระยะยาว

 
Gen Z ลาออกเพราะต้องการอิสระในการทำงาน

คนส่วนหนึ่งพยายามหาทางแยกชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกัน อีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะบริหารเวลาการทำงานด้วยตัวเอง เพื่อสร้าง Work-Life Balance ในแบบที่ตัวเองต้องการ

จากข้อมูลผลสำรวจของ cnbc ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาระบุว่า ประมาณ 55% ของคนแรงงาน มีแนวโน้มที่จะหางานใหม่ในอีก 12 เดือนข้างหน้า และมากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจ ต้องการความยืดหยุ่นเป็นเหตุผลหลักในการหางานใหม่มากกว่าค่าจ้างที่สูงขึ้น

โดยเฉพาะคน Gen Z (เกิดระหว่างปี 2540 - 2555) เป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่เพิ่งจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่กว่าครึ่งหนึ่งมีแผนจะหางานใหม่ในปีหน้า

ด้านจากผลสำรวจของ Adobe พบว่าปัญหา 56% ของคนกลุ่มนี้ไม่พึงพอใจกับ Work-life balance เมื่อทำต้องทำงานกับบริษัท และรู้สึกกดดันมากที่สุดเมื่อต้องทำงานตามเวลาปกติมากถึง 62%

นอกจากนี้ 1 ใน 4 ยังระบุว่าตนเองทำงานได้ดีที่สุดในช่วงเวลาอื่นๆ ที่ไม่ใช่เวลาทำงาน 9.00-17.00 ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของคนรุ่น Gen Z มักจะทำงานบนเตียงนอนเป็นประจำ

“เมื่อมองจากปัญหาข้างต้น จะเห็นว่าหากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในระยะยาว องค์กรจะสูญเสียแรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ออกไป และจะทำให้องค์กรไม่เกิดแนวความคิดใหม่ๆ จากมุมมองของคนรุ่น Gen Z”

 
Burnout ผลลัพธ์จากการสะสมปัญหา

ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน คนที่มีภาวะนี้จะรู้สึกหมดพลังใจ มีทัศนคติเชิงลบ ขาดความเชื่อมั่น ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

ปัจจัยการเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน มาจากการทำงานในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ต้องทำงานจากที่บ้านในระยะยาวจนแยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวไม่ออก ส่งผลให้เกิดการสะสมปัญหาด้านจิตใจของคนมากขึ้นเรื่อยๆ คนกลุ่มหนึ่งเกิดความเครียดเพิ่มขึ้น ตั้งแต่การต้องทำงานมากกว่าปกติ การขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ไม่สามารถจัดการเวลาพักได้อย่างชัดเจน และเมื่อไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็จะเลือกลาออกจากองค์กร

 
องค์กรมีวิธีแก้อย่างไร

จากปัญหาดังกล่าวองค์กรจะต้องหาวิธีแก้ปัญหา Work-Life Balance ของพนักงาน เพื่อให้คนรู้สึกอยากทำงานต่อ เช่น

-การปรับนโยบายการทำงานใหม่ ให้อิสระกับพนักงานในการบริหารเวลางานด้วยตนเอง เพื่อสร้างความยืดหยุ่นด้านเวลาการทำงาน คอยสอบถามและแชร์ความคิดเห็นกับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ

-ใช้เทคโนโลยีช่วยให้คนทำงานจากที่ไหนก็ได้ เพราะบางตำแหน่งงานไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาที่ออฟฟิศทุกวัน ถึงแม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะคลี่คลายไปแล้ว บริษัทจึงควรมีเครื่องมือที่ช่วยให้พนักงานทำงานได้ง่ายขึ้น ทำงานได้จากทุกที่ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

-ให้พนักงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ (Upskill Reskill) การให้พนักงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่ หรือการกระตุ้นให้คนพัฒนาตนเองเพื่อความก้าวหน้า เพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่าเดิมในอนาคต จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองได้รับความท้าทายใหม่ๆ และมีค่ากับองค์กร

 
นอกจากนี้การให้พนักงานได้เรียนรู้การออกแบบชีวิตการทำงานให้ลงตัว “Designing Your Work Life” เป็นอีก 1 วิธีที่จะช่วยให้พนักงานมีความสุขในการทำงานได้ ผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น Life Dashboard เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยวัดเรื่อง Work, Play, Love และ Health ในแต่ละสัปดาห์ และดูว่าเราพึงพอใจในแต่ละด้านขนาดไหน ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพกว้าง ว่า จริงๆ แล้วเราให้ความสำคัญกับอะไร เราใช้ชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมาในรูปแบบชีวิตที่เราอยากจะใช้ต่อไปหรือไม่ ถ้าใช่ ก็หมายความว่าเรามาถูกทางแล้ว สามารถสร้าง Work-Life Balance ได้แล้ว แต่ถ้าไม่ ก็จะต้องรีบปรับตัวเองก่อนที่จะถูกภาวะหมดไฟในการทำงานเล่นงาน จนรู้สึกอยากลาออกในที่สุด

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

-5 ขั้นตอนสู่ความสำเร็จในชีวิต
-5 วิธี รับมือกับความกลัวการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หลังเกิดโรคระบาด
Created with